1.ปรอท(mercury)
- ถูกกำหนดเป็นสารห้ามใช้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสม ใน การผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 221 ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม125 ตอน พิเศษ 80ง ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 โดยกำหนดชื่อสารห้ามใช้ คือ “ปรอท และสารประกอบของปรอท” โดยจากการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ครีมหน้าขาว-หน้าใส จากหลายหน่วยงานพบว่า จำนวนถึงร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มีสารปรอทในปริมาณสูงปนอยู่ในระดับหลายพันถึงหลายหมื่นส่วนในล้านส่วน
สารปรอทมีกลไกการออกฤทธิ์ให้ผิวหน้าขาว จะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ทำให้มีการสร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ลดลง จึงช่วยให้สีผิวขาวขึ้น นอกจากนี้ปรอทยัง มี ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ชนิด staphylococcus จึงป้องกันสิวได้ด้วย
มีผลข้างเคียง ทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ เกิดฝ้าถาวร ผิวบางลง และเมื่อใช้ติดต่อกัน เป็นเวลานานจะทำให้เกิดพิษสะสมของสารปรอทในผิวหนัง และดูดซึมเข้าสู่กระแส โลหิต ทำให้ตับและไตอักเสบ เกิดโรคโลหิตจาง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ อีกทั้งในสตรีมีครรภ์ปรอทจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ไปสู่ทารก ทำให้สมองพิการและปัญญาอ่อน หลังใช้หากมีอาการคันหรืออักเสบให้หยุดการใช้และไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อประเมินแนวทางการรักษา
2.ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)
- จัดเป็นยาทาภายนอกใช้เพื่อการรักษาและได้ถูกสั่งห้ามใส่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายทั่วไป เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางมักผสมไฮโดรควิโนนในปริมาณสูง ก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนดให้ผสมสารไฮโดรควิโนนในการรักษาฝ้าได้ไม่เกิน 2%)
มีกลไกการยับยั้งกระบวนการทางเคมีของเซลล์สร้างเม็ดสี(melanocyte) โดยไปยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase)ที่ทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดสี(melanin) เมื่อปริมาณเม็ดสีลดลง จึงส่งผลให้ผิวขาวขึ้นได้ จากกลไกนี้ทำให้ยาไฮโดรควิโนนถูกนำมาใช้เป็นยาทารักษาผิวที่เป็นฝ้า กระ และจุดด่างดำ กระตุ้นการสร้างเม็ดสีผิวในเซล์ลผิวหนัง
ผลข้างเคียง อาการแสบร้อน ตุ่มแดง และภาวะผิวคล้ำมากขึ้นในบริเวณที่ทา หากใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวร เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดตัวยาจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีอาการสั่นหรือเกิดภาวะลมชักหรือกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ยาได้
• วิธีปฎิบัติเมื่อเกิดผลข้างเคียง
หลังใช้ยานี้ถ้ามีอาการคันหรืออักเสบให้หยุดการใช้ และกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อประเมินแนวทางการรักษาใหม่
3. สเตียรอยด์ (Steroid)
- เป็นสารที่ห้ามใส่ในเครื่องสำอาง มักใช้เป็นสูตรผสมกับยาตัวอื่น เช่น ไฮโดรควิโนน หรือ เรตินอยด์ในการรักษา ฝ้า กระ และจุดด่างดำ สเตียรอยด์ช่วยในการเสริมฤทธิ์ และช่วยลดอาการข้างเคียงของไฮโดรควิโนน และ เรตินอยด์ ได้ดี
มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารเคมีสื่อกลาง(mediators) เช่น โพรสตาแกรนดิน(prostaglandin) และลิวโคไตรอีน(leukotriene) ที่ใช้ในการการสร้างเม็ดสี (melanin) ทำให้ปริมาณเม็ดสีลดลงส่งผลให้ผิวขาวขึ้น
การใช้ยาทาสเตียรอยด์ในความเข้มข้นสูง ใช้ผิดวิธี และ ใช้เป็นระยะเวลานานต่อเนื่องอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผดผื่นขึ้นง่าย ผิวหน้าบาง ทำให้มลภาวะสารพิษจากภายนอกเข้าสู่ผิวหนังชั้นแท้ได้ง่ายขึ้น และเห็นเส้นเลือดแดงตามใบหน้าชัดขึ้น
หลังใช้หากมีอาการคันหรืออักเสบให้หยุดการใช้ และกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อประเมินแนวทางการรักษาใหม่
4. กรดเรติโนอิก (Retinoic acid)
- รบกวนกระบวนการสร้างเม็ดสี โดยมีกลไกการออกฤทธิ์คือกระตุ้นการแบ่งเซลล์และเร่งการผลัดเซลล์ของผิวในชั้นอิพิทีเรียล/เยื่อบุผิว (Epitherial) ลดการเคลื่อนย้ายเม็ดสีมาที่เซล์ลผิวหนังและยั้บยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสที่ใช้ในการสร้างเม็ดสีอีกด้วย นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์กดการสร้างและป้องกันการสร้างสิวอุดตัน (Comedone) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิวทั่วไป กลไกการออกฤทธิ์ให้ผิวหน้าขาว
กรดเรทิโนอิกอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง ผิวหน้าลอก อักเสบ แพ้แสงแดดได้ง่าย อาจเกิดภาวะผิวด่างขาวหรือผิวคล้ำได้ชั่วคราวและอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หลังใช้ยานี้ถ้ามีอาการคันหรืออักเสบให้หยุดการใช้ และกลับไปพบแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อประเมินแนวทางการรักษาใหม
“สารไฮโดรควิโนน สเตียรอยด์ และเรตินอยด์ นั้นจัดเป็นยาที่มีประโยชน์ในการรักษา สามารถใช้ได้ภายใต้การดูแลและควบคุมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือซื้อได้ตามร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำร้าน สามารถให้คำแนะนำการใช้ยาอย่างถูกวิธีได้”
แต่สารทั้งสามนี้ห้ามนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางตามที่กระทรวงสาธารณะสุขประกาศ ไม่ควรซื้อมาใช้เด็ดขาด หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือได้รับอันตรายจากการใช้เครื่องสำอาง
ขอให้ร้องเรียนที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 หรืออีเมล : 1556@fda.moph.go.th หรือ ส่งจดหมายไปที่ ตู้ ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบรี 11004 เพื่อ อย. จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ความขาวใสของใบหน้านั้นจัดเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชาย ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุไหน ด้วยเมืองไทยของเราเป็นเมืองที่มีอากาศร้อนและแสงแดดที่แผดเผาไม่ปราณีผิวพรรณทำให้คนไทยส่วนใหญ่นอกจากจะมีสีผิวที่คล้ำแล้วยังประสบปัญหาผิวต่างๆ เช่น ฝ้า กระ และจุดด่างดำ อันเป็นเหตุให้ต้องรีบแก้ไขและทำการรักษาโดยเฉพาะในกลุ่มของผู้หญิงอย่างเราๆ จุดด่างพร้อยบนใบหน้าถือเป็นสิ่งที่ต้องกำจัดออกไปโดยเร็ว
ปัจจุบันมีผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาวออกวางจำหน่ายในท้องตลาดมากมาย ซึ่งเรารู้จักกันในนาม ครีมหน้าขาว (Whitening Products) ครีมหน้าขาวนี้จัดเป็นผลิตภัณฑ์ยอดฮิตในบรรดาสุภาพสตรี เพราะเห็นผลเร็ว ผิวขาวเนียนใสจริง แต่ภายในระยะเวลาอันสั้น ความขาวใสนี้ จะถูกแทนที่ด้วยอาการข้างเคียง คือ รอยไหม้ดำที่ค่อยๆแผ่วงกว้าง รอยแดง ผื่นแพ้ หน้าบาง ติดเชื้อง่าย ซึ่งใช้เวลาในการรักษานานและในบางรายอาจเป็นถาวร เมื่อผู้บริโภคถูกเอาเปรียบและได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ อย.จึงเข้ามามีบทบาทในการสืบสวนหาสาเหตุ และได้ประกาศ รายชื่อสารต้องห้ามใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง อันได้แก่ สารปรอท สารไฮโดรควิโนน สเตียรอยด์ และกรดเรติโนอิก เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
Indian J Dermatol. TOPICAL TREATMENT OF MELASMA. 2009 Oct-Dec; 54(4): 303–309. Available from: http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2807702/
นางสาวอัจฉราพรรณ ตันติปัญจพร และ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี. สารปรอทปริมาณสูงในครีมหน้าขาวและการทดสอบเบื้องต้น. 2014 June. Available from: http://www.sc.mahidol.ac.th/usr/?p=320
อภัย ราษฎรวิจิตร. ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone). 2015 Febuary. Available from: http://haamor.com/th/%E0%B9%84%E0%B8%AE%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8…
กองพัฒนาศักยาภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. อย. เตือน อย่าซื้อ อย่าใช้ เครื่องสำอางอันตราย 34 รายการ เสี่ยง! หน้าพัง . 2010 July. Available from: http://www.fda.moph.go.th/www_fda/data_center/ifm_mod/nw/%E0%B8%82%E0%B9…
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. รายชื่อชุดทดสอบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสถานที่ติดต่อสั่งซื้อ / ตัวแทนจำหน่ายของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. 2013 Sep [เข้าถึงเมื่อ 2016 มีนาคม 20]; เข้าถึงได้จาก : http://dmsc2.dmsc.moph.go.th/testkit/index.php?option=com_content&view=a…